โรคภัยไข้เจ็บ | ขี้โมโห เสี่ยงโรคหัวใจ
×

ขี้โมโห เสี่ยงโรคหัวใจ


คุณเคยโมโหหรือโกรธใครบ้างไหม? แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยมีอารมณ์ปี๊ด อารมณ์โกรธ โกรธเล็กน้อยไปจนปานกลาง หรือโกรธจนหน้าแดงก่ำควันออกหู ดีกรีความรุนแรงแตกต่างกันไป ความโกรธเป็นอารมณ์ในด้านลบที่ควบคุมได้ยาก และเกิดได้บ่อย นอกจากจะทำให้อารมณ์ขุ่นมัวตลอดเวลา ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย หากรับมือกับอารมณ์โกรธได้ไม่ถูกวิธี

ความโกรธส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย ?
เมื่อคนเรารู้สึกโกรธหรือมีความรู้สึกในด้านลบขึ้นในปริมาณมาก จนยากที่จะควบคุม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มความเครียด (Stress hormones) อย่างแอดรีนาลิน (Adrenalin) และ คอร์ติซอล (Cortisol) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายระยะสั้น ๆ โดยเป็นตัวเร่งอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจให้เร็วขึ้น เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ และความดันโลหิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันตัวของร่างกายแบบหนึ่ง จนคุณพร้อมที่จะระเบิดทุกอย่างออกไป และยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง (Low Immunity) โรคหัวใจและหลอดเลือด

ปวดหัวใจ การหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มความเครียดเป็นปริมาณมาก จะส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากหัวใจโดนกระตุ้นให้บีบตัวเร็วและแรงขึ้นจากฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่ง รวมไปถึงมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้นในหลอดเลือดเพื่อเป็นที่เก็บพลังงาน ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดแข็งตัวกว่าปกติ เกิดการตีบตันหรือแคบเล็กลง อาจจะเกิดลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังเส้นเลือด จึงส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและเสี่ยงเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดได้หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง

งานวิจัยชี้ว่า ภายในสองชั่วโมงแรกของการระเบิดอารมณ์โกรธออกไปจะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมองและเลือดออกในสมองมากถึง 3 เท่า และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 6 เท่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง นอกจากนี้ผู้ที่โกรธ โมโหบ่อย ๆ ยังมีแนวโน้มที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวหรือเกิดหัวใจวายได้ถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยโกรธ

การทำงานของภูมิคุ้มกันต่ำลง อารมณ์โกรธยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแย่ลง เจ็บป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดไปยับยั้งกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า การเอาแต่นั่งนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ในอดีตที่ทำให้คุณโกรธเป็นฟืนเป็นไฟสามารถส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ทำงานได้ลดลงแม้ในกลุ่มคนที่ร่างกายแข็งแรง และยังพบว่าคนที่มีอารมณ์โกรธโมโหง่ายแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาทางระบบย่อยอาหารและระบบหายใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ความโกรธยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน เช่น คนที่มีความเครียดเรื้อรังนาน ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) โรควิตกกังวล (Generalized Anxiety Disorder: GAD) ความเครียด (Stress) ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เก็บกดความรู้สึกโกรธเอาไว้ภายในจิตใจ ระงับความโกรธให้อยู่หมัด

สถานการณ์ที่เผชิญ พื้นเพครอบครัวและวัฒนธรรม เพศ หรือแม้แต่ระดับความเครียดในขณะนั้น ล้วนส่งผลให้คนแสดงการตอบโต้ต่ออารมณ์โกรธได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หงุดหงิด เดินหนี ไม่คุยด้วย ตะโกนโวยวาย ด่าทอ ขว้างปาข้าวของ ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย การเลือกแสดงออกในทางที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อร่างกายและความสัมพันธ์มากกว่า เรามีวิธีการง่าย ๆ ให้ฝึกทำกัน

  • รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ อาจลองสังเกตอาการที่เป็นอยู่จากความรู้สึกและท่าทางทางกายภาพ เช่น ใจเต้นแรง โมโห หงุดหงิด
  • เมื่อมีเรื่องมากระทบจิตใจจนทำให้อารมณ์พุ่งปรี๊ด ลองตั้งสติ สูดหายใจลึก ๆ ช้า ๆ นับ 1-10 ในใจอย่างช้า ๆ หรือเลือกถอยออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้สติแตกสักระยะก่อนที่ทุกอย่างจะระเบิดออกไป
  • เมื่อใจเย็นขึ้นค่อยกลับมาเผชิญสถานการณ์ ค่อย ๆ คิด พิจารณา และอธิบายสิ่งที่เป็นปัญหาด้วยเหตุผลอย่างใจเย็น การเลือกพูดหรือระเบิดทุกอย่างออกไปตอนอารมณ์โกรธเดือดดาลอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
  • ทบทวนและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาต้นตอที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ ลองใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทั้งนี้ควรฝึกปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นเชิงบวกเช่นกัน เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมักมีสองด้านเสมอ ในเรื่องร้ายก็มักจะมีเรื่องดีเช่นกัน ไม่จ้องจะมองแต่ปัญหาที่มีจนลืมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ ปล่อยให้ตนเองได้ยิ้มกับเรื่องเล็กน้อยบ้าง การนั่งจมปลักกับความทุกข์และความโกรธนาน ๆ ไม่ช่วยให้พบทางออกของปัญหาแต่อย่างใด
  • ระบายความเครียดที่สะสมด้วยวิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ อาจช่วยให้รับมือกับความโกรธในระยะยาวได้ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ดูหนังฟังเพลง
ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ทุกคนมีได้ แต่การแสดงออกอย่างไรให้เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นพยายามอย่าโกรธใครนานจนปล่อยให้หัวใจต้องเจ็บปวดเกินจะเยียวยา

ติดต่อทำประกันกับตัวแทนผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรอง

เพราะการให้ข้อมูลการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และมีรายละเอียดเยอะ คนทั่วไปอ่านแล้วตีความหมายได้ยาก หรืออาจคลาดเคลื่อน
เพื่อป้องกันปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นภายหลัง ทีมงานเราจึงมุ่งเน้นให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง บริการหลังการขายสม่ำเสมอต่อผู้ทำประกันทุกท่าน



เสกสรร ฉัตรพัฒนพงศ์ (เสก)
ใบอนุญาต: 6001036740
พื้นที่ : กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
E-mail : A064813@ktaxa.com


ติดต่อทำประกันกับตัวแทน
ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรอง

เพราะการให้ข้อมูลการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และมีรายละเอียดเยอะ คนทั่วไปอ่านแล้วตีความหมายได้ยาก หรืออาจคลาดเคลื่อน เพื่อป้องกันปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นภายหลัง ทีมงานเราจึงมุ่งเน้นให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง บริการหลังการขายสม่ำเสมอต่อผู้ทำประกันทุกท่าน

เสกสรร ฉัตรพัฒนพงศ์ (เสก)
ใบอนุญาต: 6001036740
A064813@ktaxa.com
พื้นที่ : กทม. และปริมณฑล

BKKCARE- ©2017 - ตัวแทนประกันชีวิตกรุงไทยแอกซ่า โทรศัพท์ : 02-739-9332
ประกันสุขภาพดี.com | ประกันออมทรัพย์.com | ประกันตลอดชีพ.com | rentcondobkk.com | https://www.scancondo.com
BKKCARE- ©2017
ตัวแทนประกันชีวิตกรุงไทยแอกซ่า
โทรศัพท์ : 02-739-9332
มือถือ : 090-2995614